Sunday, January 6, 2013

อ้อย

อ้อย



ชื่อวิทยาศาสตร์ : Saccharum officinarum L.
วงศ์ : Poaceae (Graminceae)
ชื่อสามัญ : Sugar Cane
ชื่ออื่น : อ้อยขม อ้อยแดง อ้อยดำ (ภาคกลาง) อำโป (เขมร)
แหล่งกำเนิด
แหล่งกำเนิดดั้งเดิมของอ้อยอยู่ในนิวกีนี ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ในมหาสุมทรแปซิฟิก มีหลักฐานยืนยันว่าชาวพื้นเมืองของเกาะนี้ปลูกอ้อยไว้ในสวนสำหรับเคี้ยวกิน เล่นมาตั้งแต่สมัยโบราญ นักพฤกษศาสตร์ในยุคหลัง ๆ ได้สันนิษฐานตรงกันว่า Saccharum officinarum L. นี้มีกำเนิดจากเกาะนิวกีนีอย่างแน่นอน และเชื่อว่าอ้อยพันธุ์ดั้งเดิมนี้เป็นอ้อยที่เรียกขานกันต่อมาว่า “อ้อยมีตระกูล” (noble canes) และนอกจากนั้น “อ้อยมีตระกูล” นี้ยังมีพืชในสกุลเดียวกัน คือ อ้อและแขม
ในโลกนี้มีพืชสกุลเดียวกับอ้อยมากกว่า 7 ชนิด นักพฤกษศาสตร์ชาวอินเดียกล่าวว่าอ้อยอีกชนิดหนึ่งมีชื่อว่า S.barberi นั้นมีพื้นเพดั้งเดิมเกิดอยู่ในทางตอนเหนือของอินเดีย แล้วถูกนำไปปลูกในประเทศจีนในราว 250 ปีก่อนพุทธกาล ภาษาสันสกฤตเรียกอ้อยว่า “Shakkara” ซึ่งพ้องหรือใกล้เคียงกับภาษาลาตินว่า Saccharum และมีความหมายว่า “พืชใหม่จากทางตะวันออก” นั่นแสดงว่าแหล่งกำเนิดของอ้อยนั้นอยู่ทางทิศตะวันออกของอินเดีย
ในราว ค.ศ. 1853 มีนักวิทยาศาสตร์หลายคณะ ที่สนใจในแหล่งกำเนิดของอ้อยได้เดินทางไปแสวงหาข้อเท็จจริงที่เกาะนิวกีนี และได้พบหลักฐานทั้งด้านพฤกษศาสตร์ ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ว่า S.officinarum L. มีแหล่งกำเนิดที่เกาะนั้น
การแพร่พันธุ์ของอ้อยจากเกาะนิวกีนีนั้น เกิดจากการอพยพของคนในสมัยโบราณสันนิษฐานว่าอ้อยกระจายออกจากนิวกีนีไป 3 ทาง คือ เริ่มแรกอ้อยถูกนำไปที่เกาะโซโลมอน เกาะนิวเฮบริติส และเกาะนิวคาลิโดเนีย ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลียประมาณ 8,000 ปีก่อนคริสตกาล อีกทางหนึ่งอ้อยถูกนำไปทางทิศตะวันตก ไปสู่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และในที่สุดไปสู่ด้านเหนือของอินเดียในราวประมาณ 6,000 ปีก่อนคริสตกาล ทางที่สามคาดว่าอ้อยถูกนำไปสู่เกาะทางทิศตะวันออกของหมู่เกาะไซโลมอน ซึ่งได้แก่เกาะฟิจิ ตองกา ซามัว เกาะคุก หมู่เกาะมาร์คีซาส์ เกาะโซไซตี เกาะอีสเตอร์ และฮาวาย รวมทั้งเกาะเล็กเกาะน้อยในมหาสมุทรแปซิฟิก
อเล็กซานเดอร์มหาราชได้นำอ้อยจากอินเดียไปสู่มาซีโดเนียในราว ค.ศ. 218 ในสมัยพุทธกาลอ้อยอาจถูกนำไปสู่เปอร์เซีย อราเบีย อียิปต์ หลังจากนั้นมาอ้อยก็ไปถึงสเปญ มาไดรา (Madeira) หมู่เกาะคานารีและเซาโตเม ทั้งนี้อาจเป็นไปโดยการจงใจดังเช่นในการเดินทางไปอเมริการครั้งที่ 2 ของโคลัมบัสในปี ค.ศ. 1493 และภายหลังก็มีการนำไปอีกโดยนักเผชิญโชคทางเรือในศตวรรษที่ 18 และ 19 นอกจากโคลัมบัสแล้วยังมีนักเดินเรือผู้อื่นอีกที่นำอ้อยไปแพร่หลาย โดยอาศัยประโยชน์ใช้เป็นอาหารในระหว่างเดินเรือได้ ในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 16 นักเดินเรือล่าเมืองขึ้นเป็นผู้นำอ้อยไปสู่แถบศูนย์สูตรโลก
อ้อยในประเทศไทย
อ้อยเป็นพืชที่มีความสำคัญที่ชาวไทยนำมาใช้ในพิธีต่าง ๆ มาแต่โบราณกาลไม่ว่างานเทศกาลหรือพิธีมงคลต่าง ๆ เช่น แต่งงาน โกนจุก ขึ้นบ้านใหม่ หรือเทศน์มหาชาติ สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คืออ้อย ในงานหมั้นหรือแต่งงานก็มีต้นอ้อยแห่มากับขบวนขันหมาก และนำมาผูกที่ประตูบ้านเจ้าสาว ในการไหว้พระจันทร์ของชาวจีนก็ใช้อ้อยประดับทำซุ้ม ในพิธีต่าง ๆ ที่ต้องมีมณฑปพิธีตั้งราชวัติฉัตรธง ก็จะต้องประดับประดาด้วยอ้อย รวมทั้งกล้วย มะพร้าวต่าง ๆ ด้วย
ในตำรับยาแผนโบราณใช้อ้อยแดงมาต้มกับเครื่องยาอื่น ที่เรียกว่าอ้อยแดงก็เพราะมีเปลือกสีแดงจนเกือบดำ บางครั้งจึงมีผู้เรียกว่าอ้อยดำหรืออ้อยขม เนื่องจากตาและเปลือกมีรสขม

0 comments:

Post a Comment